วัดเจดีย์งาม
Phanuphong Thammawan วัดเจดีย์งาม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
วัดเจดีย์งามสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2021 เดิมมีชื่อวัดว่า วัดหัวกาด ต่อมามีสภาพเป็นวัดร้างนานนับร้อยปี แล้วจึงได้รับการบูรณะขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2475 โดยท่านพระครูโสภณเจติยาราม อดีตเจ้าคณะอำเภอฝาง และเปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดหนองไผ่ ภายหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็น "วัดเจดีย์งาม" ตามองค์พระธาตุเจดีย์งาม วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 20 เมตร ยาว 30 เมตร[1]
อาคารและเสนาสนะทึ่สำคัญ คือ พระธาตุเจดีย์งาม อุโบสถไม้สักทองลักษณะศิลปะล้านนาผสมศิลปะแบบภาคกลาง ไม้สักแกะสลักลงรักปิดทอง ผนังด้านนอกอุโบสถเขียนลายรดน้ำ ประกอบเป็นภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านในอุโบสถมีภาพแกะสลักทศชาติชาดกและมหาชาติลงรักปิดทอง ไตรภูมิพระร่วง วิถีชีวิตขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมชาวไทยเขินเมืองเชียงตุง ภาพประวัติของพ่อขุนเม็งรายมหาราชผู้ปกครองเมืองฝาง อุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปพระฝาง พระพุทธรูปเก่าแก่ศิลปะเชียงแสน[2]
วัดเจดีย์งาม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2021 เดิมเป็นวัดร้าง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2475 ท่านพระครูโสภณเจติยาราม อดีตเจ้าคณะอำเภอฝาง ได้ทำการบูรณะพัฒนาขึ้นมาเป็นวัด เดิมชื่อว่า “วัดหัวกาด” ต่อมาชื่อว่า “วัดหนองไผ่” (จากคำบอกเล่าถวายของพระเดชพระคุณพระเทพวรสิทธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสำเภอ อดีตเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่) และตั้งชื่อใหม่ว่า “วัดเจดีย์งาม” ตามองค์พระธาตุเจดีย์งาม ได้รับพระราชทานพัทธสีมา เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 เขตพัทธสีมา กว้าง 60 เมตร ยาว 80 เมตร และเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2541 ได้มีพระบรมราชองค์การโปรดเกล้าฯ ให้วัดเจดีย์งามได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ซึ่งมีความกว้าง 20 เมตร ยาว 30 เมตร ประกาศเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542
ความเป็นมาของอุโบสถไม้สักทอง
พุทธศักราช 2536 ได้มีการสร้างอุโบสถขึ้นมา 1 หลังโดยทำการวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2536 โดยพระเดชพระคุณเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วงวรปุญญมหาเถระ ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ เจ้าคณะใหญ่หนเนือได้เมตตาเป็นประธานวางศิลาฤกษ์ ซึ่งเป็นอุโบสถหลังนี้สร้างด้วยศิลปะแบบไทยล้านนาผสมศิลปะแบบภาคกลาง โดยใช้ไม้สักแกะสลักลงรักปิดทองผนังด้านนอกอุโบสถเขียนลายรดน้ำ ประกอบเป็นภาพลายรดน้ำ พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช ส่วนผนังด้านในอุโบสถแกะสลักเป็นภาพทศชาติ และมหาชาติทำการลงรักปิดทอง และเขียนภาพไตรภูมิพระร่วง ขนบธรรมเนียมประเพณีชาวล้านนาในอดีต และวิถีชีวิตขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมชาวไทยเขินเมืองเชียงตุง พร้อมกันนี้ยังได้เขียนภาพประวัติของพ่อขุนศึกเม็งรายมหาราชผู้ปกครองเมืองฝางไว้ในอุโบสถด้วย
อุโบสถหลังนี้ใช้เวลาในการก่อสร้างเป็นระยะเวลา 7 ปี (2536-2542) จึงจะแล้วเสร็จ โดยมีช่างผู้ชำนาญการในการแกะสลักไม้สักทองจำนวน 5 ชุด สิ้นทุนทรัพย์ในการก่อสร้างเป็นจำนวนเงิน 22 ล้าน 5 แสนบาท