Suphakorn Panyangam รีวิวย้อนหลัง เคยมากราบสรีระสังขารหลวงปู่ผลและอัฐิธาตุของหลวงปู่แสวง มีรูปหล่อของท่านให้ติดทองด้วยนะครับ มีรูปหล่อพระพากุละ พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลท่านเป็นผู้เลิศในการอาพาธน้อย เพราะในอดีตชาติเคยถวายยาพระสงฆ์ สร้างโรงพยาบาล สร้างส้วม ท่านจึงมีอายุถึง 160 ปี ผมเคยมาทำสังฆทานด้วย มีท่าน้ำสามารถซื้ออาหารให้ปลาได้ด้วยนะครับ วัดนี้คนเมียนมาร์ชอบเข้ามาทำบุญ ส่วนประวัติก็ตามนี้ครับ
วัดเทียนดัด เล่ากันว่าสร้างขึ้นสมัยกรุงธนบุรี เมื่อปี พ.ศ.2312 ภายหลังกรุงศรีอยุธยาแตก แล้วหมู่พระสงฆ์ได้หนีพวกพม่ามาพักในบริเวณนี้ ชาวบ้านจึงได้สร้างวัดเพื่อให้พระสงฆ์ ได้อยู่จำพรรษา วัดนี้แต่เดิมนั้นมีต้นเกดขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากจึงได้ชื่อว่า “วัดดงเกด” แล้วเปลี่ยนมาเป็น “วัดกระแชงดาด” วัดเชิงดาดคงคาวน และ “วัดเชิงดาดคงคาวล” ต่อมาเมื่อครั้งที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จผ่าน และแวะเยี่ยมที่วัดแห่งนี้ ท่านได้ตั้งนามของวัดให้ใหม่ว่า “วัดเทียนดัด”หลักฐานเก่าแก่ของวัดที่ยังคงเหลืออยู่บ้าง ได้แก่อุโบสถหลังเก่า สร้างหันหน้าไปทางแม่น้ำ ด้านหน้ามีพาไลหรือหลังคาคลุมทอดลงมา ใบเสมาตรงเอวทำเป็นลวดลายก้านขดสลับไปคล้ายกับใบเสมาที่วัดหอมเกร็ด ในอดีตวัดแห่งนี้มีพระเถรซึ่งมีชื่อเสียงมาก ได้แก่ พระครูปลัดผัน ติสฺสวณฺโณ อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 4 และพระครูอาทรพิทยคุณ (ผล ธมฺมโชติ) อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 5 องค์สุดท้ายได้แก่ พระครูมนูญ กิจจานุวัตร (แสวง ธมฺรโส) อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 6 ดังนั้น วัดเทียนดัดในทุกวันนี้จึงได้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและมีสิ่งก่อสร้างขึ้นอีกมากมาย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หลักฐานในอดีตหลงเหลืออยู่น้อยมาก จนบางครั้งทำให้ดูเหมือนกับว่าวัดแห่งนี้เป็นวัดสร้างขึ้นใหม่ในปัจจุบัน หลักฐานเหล่านี้ได้บันทึกไว้ในหนังสือทางประวัติศาสตร์ชื่อ วัฒนธรรมสามพราน วัดเทียนดัด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ.2480
หลวงปู่ผล วัดเทียนดัด เกจิผู้ปลุกศรัทธาท่ามกลางชาวคริสต์ จากประวัติของท่านที่บันทึกไว้ใน"หนังสือ อนุสรณ์ 101 ปี หลวงพ่อผล วัดเทียนดัด" ท่านเกิดในตระกูล"แสงโสภา"ที่บ้านต.ท่าข้าม อ.สามพราน จ.นครปฐม ตรงกับวันเสาร์ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 12 ปีพ.ศ.2433 (ปีขาล ปีเดียวกับหลวงพ่อเงิน) เป็นบุตรของนายใหญ่ ชาวอยุธยา และนางทองสุข ชาวนครปฐม ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา มีพี่น้องรวม 10 คน เป็นผู้ชาย 3 คน และผู้หญิง 7 คนคือ 1. นางใย 2. นางยวง 3. นางพวง 4. นายพัน 5. นางเป๋า 6. นางอิน 7. นางแดง 8. นางวิน 9. นายผัน แสงโสภา (หลวงปู่ปลัดผัน) 10. นายผล (หลวงปู่ผล) เยาว์วัยพออ่านเขียนหนังสือได้ เมื่ออายุครบเกณฑ์ก็ไปเป็นทหาร หลังปลดประจำการแล้วไดัอุปสมบทที่วัดเทียนดัด โดยมีพระอธิการแสง วัดนางสาว เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการคง วัดนางสาว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัดใจ วัดเชิงเลน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า"ธัมมโชติ" ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดเทียนดัด ต่อมาได้ไปศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดมหาธาตุ โดยอาศัยพำนักอยู่ที่วัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี
เมื่อสอบได้นักธรรมขั้นตรีแล้วก็ได้มาเป็นครูสอนปริยัติธรรมที่วัดเทียนดัด และวัดต่างๆหลายวัด เพราะสมัยนั้นหาครูผู้สอนยากมาก โดยได้ไปๆมาๆที่วัดระฆังเสมอ เพราะต้องการเรียนวิชาต่างๆ โดยเฉพาะการเรียนวิปัสสนากรรมฐานที่ท่านสนใจอย่างมากและท่านมีความรู้ด้านนี้พอสมควร
ยิ่งไปกว่านั้นท่านยังได้เรียนวิชาถ่ายภาพ วิชาเขียนภาพ วิชาเครื่องยนต์ ตลอดจนวิชาไสยศาสตร์เวทมนต์ คาถาจากอาจารย์ต่างๆ แล้วได้นำหลักการทำพระสมเด็จของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) วัดระฆังมาทำเป็นครั้งแรกช่วงปี พ.ศ.2471-2472 กับพระปลัดผัน พระพี่ชายของท่าน
หลวงปู่ผลมีอุปนิสัยใจคอเยือกเย็น มีเมตตาธรรมแก่คนทั่วไป ท่านยังเป็นที่คุ้นเคยและเคารพนับถือของพระผู้ใหญ่หลายรูป นอกจากมีวิชาอาคมขลังแล้ว ท่านยังเป็นพระนักพัฒนาที่ตั้งใจบริหารวัดจนเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด มีอาคาร กุฏิ ศาลาบำเพ็ญกุศล เมรุ ถังน้ำบาดาลคอนกรีต ห้องสมุด โรงเรียนปริยัติธรรม อีกทั้งซ่อมอุโบสถและศาลาการเปรียญที่ชำรุดทรุดโทรม ศาลาเอนกประสงค์ ที่สำคัญ ท่านชอบบริจาคทรัพย์ช่วยเหลือคนยากจน และผู้ประสบภัยต่างๆ เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วมที่ไหน ท่านก็บริจาคเงินช่วยเหลือทันที
ท่านก็มรณภาพลงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 ม.ค. 2532 เวลา 04.00 น ที่โรงพยาบาลบางไผ่ กรุงเทพฯ สิริอายุ 99 ปี ทางวัดจัดพิธีบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมที่ศาลาการเปรียญเป็นเวลา 100 คืน ได้รับเงินจากผู้บริจาค 500,000 บาทเศษ (คณะกรรมการได้นำเงินสร้างพุทธเจดีย์ศรีปฐมบรมธาตุ 200,000 บาท เพื่ออุทิศถวายให้ท่าน มีเหตุการณ์อัศจรรย์คือ หลังจากหลวงปู่ผลมรณภาพไปแค่ไม่กี่วัน เต่าที่ท่านได้สลักชื่อและปล่อยไปนานแล้วได้คลานกลับขึ้นมาจากน้ำมาอยู่บริเวณโลงที่บรรจุสังขารของท่านประมาณ 15 วันก่อนจะคลานกลับลงน้ำไปตามเดิม ประหนึ่งว่ามันมาเคารพสักการะสังขารหลวงปู่ผล
5 /5