5 /5 Suphakorn Panyangam: รีวิวย้อนหลัง เป็นวัดที่สวยจริง เคยไปหลายปีแล้ว ตอนนี้น่าจะสวยหรือพัฒนากว่าเดิม วันที่ไปไม่ได้ตั้งใจจะมาวัดนี้ ตอนนั้นจะไปวัดเลียบตรงข้ามกับวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ไปวัดเลียบเพื่อตามรอยหลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่นเท่านั้น แต่เห็นฝั่งตรงข้ามวัดเลียบแล้วสะดุดตา เลยแวะมาวัดนี้ ยอมรับเลยว่าสวยมาก ใครมาเที่ยวอุบลแนะนำวัดนี้เลยครับ ส่วนประวัติวัดตามนี้ครับ
วัดพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ หรือวัดใต้เทิง สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏ มีประวัติเล่าว่าในสมัยพระเจ้าพระพรหมราชวงศา (ทิดพรหม) พระมหาราชครู (เจ้าหอแก้ว) ได้มานั่งปฏิบัติธรรมฐานอยู่บริเวณเหนือแม่น้ำมูลเป็นประจำ เจ้าครองเมืองพร้อมด้วยไพร่บ้านพลเมืองได้มาสร้างสำนักสงฆ์ให้เป็นที่ปฏิบัติธรรมของพระมหาราชครูเจ้าหอแก้ว เรียกว่า วัดใต้ท่า บริเวณตอนบนเรียกวัดใต้เทิง เขตวัดทั้งสองติดกันเพียงแค่มีถนนกั้น ในสมัยเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) เป็นผู้ครองสังฆมณฑล ได้นำวัดใต้ท่าไปรวมกับวัดใต้เทิง ชาวบ้านทั้งสองคุ้มวัดได้แสดงถึงความสามัคคีกันจึงได้มีมติ ตกลงกันเรียกว่า “วัดใต้” ปัจจุบันคำว่า “เทิง” ได้ เลือนหายไป คำว่า เทิง เป็นภาษาอีสานมีความหมายว่า บน หรือ เหนือ อยู่สูง อยู่บนขึ้นไป วัดใต้เทิง คือ วัดที่อยู่เหนือขึ้นไป ถัดไปจากวัดใต้ท่าที่ตั้งอยู่ใกล้ริมแม่น้ำมูล
วัดพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อนั้นเคยเป็นวัดฝ่ายวิปัสสนาธุระของพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เดิมมีหาดทรายขาวสะอาดยาวเหยียดเป็นที่ท่องเที่ยว เรียกว่า หาดวัดใต้ ต่อมามีการดูดทรายขาย หาดทรายจึงจมหายไปอย่างน่าเสียดาย
ปูชนียวัตถุที่สำคัญ เช่น พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ พระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร 4 องค์ พระพุทธรูปเจตมูนเพลิงองค์ตื้อ (สีดำสนิท) อีก 1 องค์
พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ เป็นพระประธานในอุโบสถเป็นทองนาคสำริด หนักเก้าแสนบาท พุทธลักษณะเป็นปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 51 นิ้ว สูง 85 นิ้ว (มีผู้สันนิษฐานว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งเวียงจันทน์เป็นผู้สร้าง) พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ มีความสำคัญเป็น 1 ใน 5 องค์ในจำนวนพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศไทย ซึ่งอีก 4 องค์ประดิษฐานอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ชัยภูมิ หนองคาย และวัดพระโต อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี และที่ประเทศลาวอีก 1 องค์ พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ เดิมประดิษฐานอยู่บนแท่นพระอุโบสถหลังเก่า ฐานรองรับสูง 70 เซนติเมตร สร้างแบบง่าย ๆ ภายหลังอุโบสถหลังเก่าทรุดโทรม พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อจึงอยู่กลางแจ้ง ตากแดด ตากฝน เป็นเวลานานทำให้องค์พระพุทธรูปองค์ตื้อมีรอยแตกเป็นสะเก็ดออกมา คนเก่าแก่ในสมัยนั้นได้บอกเล่าสืบต่อกันมาว่า “… พระพุทธรูปองค์ตื้อนี้ได้ถูกหุ้มห่อทาปอมพอกเอาไว้ พอกด้วยเปลือกไม้ ยางบด ผสมผงอิฐเจ และทองคำ เงิน นาก สัมฤทธิ์ เงิน รางกาชาดซะพอก ให้น้ำเกลี้ยง น้ำชาดผสมทาปอมพอก แล้วลงรักปิดทองที่เข้าเมืองอุบลราชธานี และเถราจารย์ในสมัยนั้น เพราะเป็นสมบัติล้ำค่าที่ไม่สามารถนำติดตัวไปได้ ซึ่งองค์พระพุทธรูปเป็นทองแท้สัมฤทธิ์กลัวว่าจะถูกข้าศึกศัตรูขนเอาไป จึงได้ทาปอมพอกปิดเอาไว้ และปล่อยทิ้งเป็นวัดร้างนานถึง 200 ปี…” ครั้นต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2507-2508 พระภิกษุสวัสดิ์ ทัสสนีโย และพระราชธรรมโกศล เจ้าอาวาสวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อในขณะนั้น ได้ทำการก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น ก่อสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2519 เมื่อสร้างฐานแท่นพระพุทธรูปพระประธานเสร็จจึงได้ยกพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อขึ้นประดิษฐานที่แท่นจนถึงปัจจุบันนี้